อาการเสียวฟันเป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป หลายคนคงจะคุ้นเคยกับความรู้สึกเสียวฟันดี และไม่ค่อยดูแลใส่ใจมันเท่าไหร่ เพราะคิดว่าเป็นอาการที่ไม่ได้เป็นอันตราย ปล่อยทิ้งไว้เดี๋ยวก็หายได้เอง อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นคนที่รู้สึกจี๊ดที่ฟันกราม จี๊ดที่ฟันหน้า ปวดฟันแปล๊บ ๆ หรือรู้สึกเปรี้ยวเข็ดฟันบ่อย ๆ นั่นอาจเป็นหนึ่งในสัญญาณที่เกิดจากโรคในช่องปากที่คุณอาจไม่รู้ตัว เพื่อให้คุณสามารถรับมือกับอาการเสียวที่ฟันได้อย่างเหมาะสม และป้องกันการเกิดโรคในช่องปากที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับความรู้สึกเสียวฟันโดยละเอียด เสียวฟันเกิดจากอะไร? อาการแบบไหนที่ควรระวัง และควรดูแลตนเองอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ

แบบไหนถึงเรียกว่า “อาการเสียวฟัน”

แม้ว่าหลายคนจะคุ้นเคยกับความรู้เสียวฟัน แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเสียวฟันเกิดจากอะไร อาการเสียวที่ฟันนั้น เป็นอาการตอบสนองของเส้นประสาทในฟันที่ไวกว่าปกติต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก เช่น การรับประทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มที่ร้อน หรือเย็นจัด การสัมผัสอากาศ หรือแปรงฟัน จนทำให้รู้สึกปวดแปล๊บ ๆ หรือจี๊ด ๆ ที่ฟัน มักเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราว และบรรเทาลงอย่างรวดเร็ว

เสียวฟันเกิดจากสาเหตุใด?

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า ความรู้สึกเสียวฟันเกิดจากเส้นประสาทในเนื้อฟันตอบสนองไวกว่าปกติ การหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเสียวที่ฟันจึงต้องดูว่าปัจจัยใดที่ทำให้เส้นประสาทในฟันไวกว่าปกติ
โดยปกติแล้ว เนื้อฟัน (Dentine) จะได้รับการปกป้องจากชั้นเคลือบฟัน (Enamel) และเหงือก (Gum) จึงทำให้เนื้อฟันไม่ได้รับผลกระทบในเวลาที่รับประทานอาหาร ดื่มเครื่องดื่ม หรือแปรงฟัน ทำให้เส้นประสาทในเนื้อฟันไม่ได้รับการถูกกระตุ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อชั้นเคลือบฟันบางลง สึกกร่อน แตกออก หรือมีอาการเหงือกร่นจนทำให้เห็นเนื้อฟัน จะส่งผลให้เนื้อฟันไม่ได้รับการปกป้อง และต้องสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นภายนอกโดยตรง ทำให้เส้นประสาทในฟันได้รับการกระตุ้นมากกว่าปกติ จนเกิดความรู้สึกเสียวฟันตามมานั่นเอง

ปัจจัยทำให้ชั้นเคลือบฟันบาง และเหงือกร่นที่พบได้บ่อย ๆ

ความรู้สึกเสียวฟันนี้ สามารถป้องกันและลดอาการได้โดยการดูแลรักษาฟันให้แข็งแรงด้วยวิธีต่อไปนี้

1. แปรงฟันแรงเกินไป หรือใช้ขนแปรงที่แข็ง : จะทำให้ชั้นเคลือบฟันค่อย ๆ บางลง และทำให้เหงือกร่น ไม่เพียงแค่ทำให้รู้สึกเสียวฟัน ยังอาจทำให้คอฟันสึกได้ด้วย
2. รับประทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์ในการกัดกร่อนชั้นเคลือบฟันเป็นประจำ : เช่น น้ำอัดลม, โซดา, น้ำหวาน, ชา, กาแฟ หรือผลไม้เปรี้ยวจัด เป็นต้น
3. ผลข้างเคียงจากการฟอกสีฟัน : เกิดจากในระหว่างที่สารฟอกสีฟันซึมเข้าชั้นเคลือบฟันเพื่อทำให้เม็ดสีแตกตัว ได้ไปกระตุ้นเส้นประสาทในฟันจนทำให้เกิดความรู้สึกเสียวฟัน
4. ฟันบิ่น ฟันแตก ฟันร้าวจากสาเหตุต่าง ๆ : เช่น การเคี้ยวอาหารแข็งอย่างน้ำแข็ง หรือถั่ว การใช้ฟันเปิดขวด หรือการได้รับอุบัติเหตุ เป็นต้น
5. มีคราบหินปูนเกาะที่ฟันมาก ๆ : สามารถทำให้เกิดฟันผุ และเหงือกร่นได้เช่นกัน
6. ใส่อุปกรณ์จัดฟันแบบโลหะนานเกินไป : เป็นหนึ่งในสาเหตุที่สามารถทำให้เกิดเหงือกร่นได้เช่นกัน

เสียวฟันเกิดจากชั้นเคลือบฟันบาง แล้วสามารถป้องกันและลดอาการเสียวฟันได้ไหม?

ความรู้สึกเสียวฟันนี้ สามารถป้องกันและลดอาการได้โดยการดูแลรักษาฟันให้แข็งแรงด้วยวิธีต่อไปนี้

1. ทำความสะอาดฟันอย่างถูกวิธี : เป็นสิ่งพื้นฐานในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการเสียวที่ฟัน และดูแลรักษาฟันให้แข็งแรงที่ไม่ควรละเลย โดยการเลือกใช้ขนแปรงที่อ่อนนุ่ม แปรงลงบนฟันอย่างเบามือ ด้วยท่าทางที่ถูกต้อง และใช้ไหมขัดฟันกำจัดเศษอาหารตามซอกฟันทุกครั้ง
2. ใช้ยาสีฟัน หรือน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของโพแทสเซียม (Potassium) หรือสตรอนเทียม (Strontium) : จะช่วยลดการส่งกระแสประสาทของเส้นประสาทของในเนื้อฟัน ทำให้ลดความรู้สึกเสียวที่ฟันได้
3. เข้ารับการตรวจสุขภาพฟันและช่องปากทุก 6 เดือน : โดยทันตแพทย์จะทำการขูดหินปูนออก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ฟันผุและเหงือกร่น รวมถึงตรวจดูอาการต่าง ๆ ในช่องปาก และทำการดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
4. หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ชั้นเคลือบฟันบาง หรือฟันผุ : เช่น อาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ อย่างน้ำอัดลม โซดา ผลไม้เปรี้ยวจัด หรือขนมที่มีน้ำตาลสูง ๆ
5. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นภายนอกที่ทำให้เสียวฟัน : เช่น การเคี้ยวน้ำแข็ง ดื่มน้ำเย็นจัด ดื่มน้ำร้อนจัด รับประทานผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เป็นต้น

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงจะรู้แล้วว่าเสียวฟันเกิดจากเส้นประสาทในฟันไวต่อสิ่งกระตุ้นภายนอกมากเกินไป และอาจเป็นสัญญาณบอกว่าชั้นเคลือบฟันของเรากำลังบางลง หรือมีปัญหาที่บริเวณเหงือก ดังนั้นเมื่อคุณรู้สึกเสียวฟันบ่อย ๆ ปวดจี๊ดที่ฟันมาก ๆ ก็ควรที่จะไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาการเสียวที่ฟันอาจลุกลามจนทำให้เกิดโรคในช่องปากอื่น ๆ เช่น โรคฟันผุ โรคปริทันต์ รากฟันอักเสบ หรือรากฟันเสียหาย เป็นต้น