ผ่าฟันคุด
คลินิกทันตกรรมวิลเด็นท์ (Will Dent Dental Clinic)
คลินิกทันตกรรมครบวงจร ดูแลฟันสวย ส่งต่อรอยยิ้มที่มั่นใจ
ฟันคุด คือ อะไร?
ฟันคุด คือ ฟันกรามแท้ซี่ที่ 3 ซึ่งเป็นซี่สุดท้าย ในขากรรไกรที่ไม่สามารถขึ้นมาในช่องปากได้ตรงๆ โดยอาจฝังตัวอยู่ในกระดูกขากรรไกรบางส่วนหรือทั้งซี่ หรืออยู่ในเหงือก ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ เช่น ปวดหรือบวมได้ และ ถ้าเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น ฟันซี่นั้นๆ อาจต้องได้รับการเอาออก หมอแนะนำว่าถ้าสามารถเอาออกก่อนเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ก่อนผ่าฟันคุด ทำไมต้อง x-ray
เพราะการx-ray คือ การวินิจฉัยที่จำเป็นสำหรับการ“ผ่าฟันคุด” เพราะฟันคุดแต่ละซี่แตกต่างกันไปในแต่ละคน เนื่องจากฟันคุดมักจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงจำเป็นต้องมีการถ่ายภาพรังสี เพื่อดูลักษณะการวางตัวของฟัน ว่าตั้งตรงหรือเอียงนอน และดูตำแหน่งความลึกของฟันคุดซี่นั้นๆ เพื่อที่หมอเฉพาะทางจะได้วางแผนการเอาฟันคุดออกให้เหมาะสม อีกทั้งยังประเมนความยากง่ายของการผ่าเอาฟันคุดออกอีกด้วย นอกจากนี้แล้วในการจัดฟัน ทันตแพทย์จัดฟัน มักจะแนะนำให้เอาฟันคุดออก ก่อนเริ่มทำการจัดฟัน เนื่องจากฟันคุดอาจจะขึ้นมา เบียดซี่ฟันในภายหลังได้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรง ทำให้ฟันที่จัดไปแล้ว เกิดการเบียดตัวเอนหรือซ้อนกันได้
ปัญหาที่เกิดจาก “ฟันคุด”
การที่มี ฟันคุด แล้วไม่ได้ทำการผ่าออกหรือถอนฟันซี่นั้นๆออกมา อาจส่งผลให้ มีปัญหาต่างๆ ตามมาได้ดังต่อไปนี้
1. อาการปวด อาจเกิดจากแรงดันของฟันคุด แล้วไปเบียดฟันซี่ข้างๆหรืออวัยวะข้างเคียง ทำให้เกิดอาการปวดตึงๆ หรือปวดตุบๆ บางคนปวดลามไปยังบริเวณขากรรไกร หรือขมับ นอกจากนั้นอาการปวดอาจเกิดจากการอักเสบของเหงือกที่คลุมฟันคุดอยู่
2. อาการบวม อาจเกิดจากการที่ฟันบนที่เป็นคู่สบกัดกระแทกเหงือก หรืออาจเกิดจากการมีเศษอาหารติดในช่องว่างระหว่างเหงือกที่ปกคลุมฟันคุดอยู่ จึงทำให้มีอาการอักเสบและติดเชื้อบริเวณเหงือก และบางรายหากทิ้งไว้นานอาจเกิดการบวมบริเวณใบหน้าได้ ในบางครั้งหากเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง เช่น ผู้ที่มีสุขภาพช่องปากไม่ดี มีหินปูนเป็นต้น อาจทำให้เกิดการอักเสบลามไปถึงบริเวณต่อมน้ำเหลืองได้
3. ทำให้ฟันซี่ข้างเคียงผุ หากฟันคุดขึ้นมาเอียงชนกับฟันซี่ข้างเคียง จะทำให้มีเศษอาหารติดบริเวณซอกฟันระหว่าง2ซี่ได้ง่าย ร่วมกับการทำความสะอาดบริเวณดังกล่าวทำได้ยาก ไม่สามารถใช้ไหมขัดฟันได้ ก็จะส่งผลให้ฟันซี่ข้างเคียงที่อยู่ติดกันเกิดการผุได้
4. เกิดถุงน้ำ (cyst) รอบๆ ฟันคุด ฟันคุดที่ไม่สามารถขึ้นมาในช่องปากได้ โดยเฉพาะชนิดที่ฟันทั้งซี่ฝังอยู่ในกระดูก อาจมีการพัฒนาเกิดเป็นถุงน้ำหรือซีสต์ รอบๆฟันซี่นั้นๆ ซึ่งถ้าถุงน้ำมีการขยายขนาดจนใหญ่ ก็จะส่งผลให้กระดูกขากรรไกรบริเวณดังกล่าวถูกทำลายได้
5. ส่งผลต่อการจัดฟัน บางกรณีฟันคุดที่พึ่งขึ้นมา อาจส่งผลให้การจัดฟันไม่เป็นไปตามที่ต้องการ หรือ ทำให้รีเทนเนอร์เดิมที่เคยทำไว้ใส่ไม่ลง
6. เป็นจุดอ่อนของขากรรไกร ในขากรรไกรที่มีฟันคุดฝังตัวอยู่ บริเวณดังกล่าวจะเป็นจุดอ่อนที่ง่ายต่อการแตกหัก ในกรณีที่ได้รับอุบัติเหตุ หรือมีอะไรมากระแทกที่บริเวณขากรรไกรบริเวณนั้น จะส่งผลให้เกิดขากรรไกรหักได้ง่าย
7. มีกลิ่นปาก เนื่องจากบริเวณฟันคุดทำความสะอาดยาก ทำให้มักจะมีการอักเสบของเหงือก และกลิ่นของเศษอาหารที่สะสม ซึ่งจะส่งผลต่อบุคลิกภาพโดยรวม และส่งผลถึงอนามัยของช่องปาก
การเตรียมตัวก่อน การผ่าฟันคุด หรือ การถอนฟันคุด
การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนผ่าฟันคุด จะทำให้มีอัตราการสำเร็จที่สูง มีอาการแทรกซ้อนน้อย และมีความเจ็บปวดภายหลังทำไม่มาก แผลหายเร็ว สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ในระยะเวลาไม่นาน
1. ข้อมูลสุขภาพ หากมีข้อจำกัดด้านสุขภาพ มีโรคประจำตัวใดๆ หรือมียาอะไรที่รับประทานอยู่เป็นประจำ ควรจะต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ประจำตัว ก่อนเข้ารับการผ่าตัดฟันคุด เช่น ต้องมีการหยุดยาละลายลิ่มเลือดที่รับประทานอยู่เป็นประจำหรือไม่ รวมถึงต้องควบคุมความดัน และระดับน้ำตาลในคนไข้เบาหวานให้ได้ก่อนเข้ารับการผ่าตัดฟันคุด เป็นต้น
2. เตรียมร่างกาย ควรนอนหลับพักผ่อนมาให้เต็มที่ หากมียาที่ต้องรับประทานเป็นประจำซึ่งถามแพทย์แล้วว่าไม่ได้มีผลต่อการผ่าฟันก็ให้รับประทานมาให้เรียบร้อย ควรรับประทานอาหารมาบ้าง แต่ไม่ควรมากจนเกินไป
3. วางแผนการเดินทาง ภายหลังการผ่าฟันคุด ( ยกเว้นว่าเป็นกรณีของ การถอนฟันคุด ที่ไม่ยาก) ควรวางแผนการเดินทางกลับจากคลินิก เช่น ใช้บริการรถสาธารณะ หรือมีคนช่วยขับรถกลับบ้านให้
4. การทำความสะอาดช่องปาก เนื่องจากภายหลัง ผ่าฟันคุด คุณหมอจะให้กัดผ้าก๊อซไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง และในเย็นวันนั้น อาจจะแปรงฟันได้ค่อนข้างลำบาก แนะนำว่าควรทำความสะอาดช่องปากให้สะอาดที่สุดก่อนการรักษา
5. งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากบุหรี่จะส่งผลให้การหายของแผล ทำให้แผลหายยาก และมีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดได้ ส่วนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนการผ่าตัด จะส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว มีผลทำให้เลือดหยุดช้ากว่าปกติ
ขั้นตอนการผ่าฟันคุด หรือ ถอนฟันคุด
จะเริ่มจากการใช้ยาชาเฉพาะที่แบบป้ายก่อน เพื่อให้เนื้อเยื่อบริเวณที่จะฉีดยามีอาการชา จากนั้นทันตแพทย์จะฉีดยาชา ซึ่งบางครั้งอาจฉีดมากกว่า 1 เข็ม ขึ้นอยู่กับว่าชาเพียงพอแล้วหรือยัง จากนั้นทันตแพทย์จะทำการทดสอบอาการชา หากพบว่าชาเพียงพอจะทำการผ่าฟันคุด โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1) การผ่าฟันคุด กรณีที่ฟันคุดฝังอยู่ในกระดูก ทันตแพทย์ต้องเปิดเหงือก และหาตำแหน่งฟันคุดฝัง จากนั้นทันตแพทย์จะทำการกรอกระดูก บริเวณที่คลุมฟันคุดอยู่ และทำการตัดแบ่งฟันคุดออกเป็นชิ้นๆ เพื่อให้แผลที่จะนำฟันคุดออกมามีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งจะลดการเจ็บปวดและการบวม
2) การผ่าฟันคุด กรณีที่ฟันคุดขึ้นมาได้บางส่วน ทันตแพทย์จะพิจารณาว่าจะต้องมีการกรอกระดูกร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่มีการกรอกระดูก จะผ่ากรีดเหงือกเพียงอย่างเดียวก็จะช่วยลดความเจ็บปวด และแผลหลังผ่าตัดจะหายเร็วกว่า แบบที่มีการกรอกระดูก
3) การผ่าฟันคุด หรือ การถอนฟันคุด กรณีที่ฟันคุดขึ้นมาได้เต็มซี่ ทันตแพทย์จะเลือกใช้วิธีการถอนฟันคุด ออกโดยไม่ต้องมีการผ่ากระดูกหรือเปิดเหงือก ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้ความเจ็บปวดจะน้อยพอๆกับ การถอนฟัน
ข้อควรปฏิบัติภายหลัง “ผ่าฟันคุด”
1. กัดผ้าก๊อซแน่นพอประมาณ ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ควรจะกลืนเลือดและน้ำลายเข้าไป ไม่ควรอมหรือบ้วนทิ้ง เนื่องจากจะทำให้เลือดออกมามากและนานกว่าปกติ ระหว่างนี้ไม่ควรพูดหรือทำกิจกรรมใดๆ ที่ต้องออกแรงมาก ไม่ควรนอนราบ เพราะเวลาหลับบางครั้งอาจมีน้ำลายและเลือดไหลออกมาจากปากเนื่องจากอาการชา
2. อาการชาจะยังคงอยู่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง หลังจากการผ่าฟันคุด ควรระมัดระวังไม่ไปกัดแก้ม กัดริมฝีปาก ดูดแผลหรือเคี้ยวอาหารโดนแผล เนื่องจากหากหมดฤทธิ์ยาชาจะทำให้เกิดความเจ็บปวดได้
3. ควรรับประทานอาหารอ่อน รสไม่จัด รวมถึงไม่ร้อนหรือ เย็นจนเกินไป อาหารที่แนะนำ ได้แก่ ข้าวต้ม โจ๊ก โยเกิร์ต หรือ ไข่ตุ๋น ควรรับประทานอาหารที่ไม่แข็งมาก หลังจากนั้นประมาณ 2-3 วัน สามารถรับประทานอาหารที่มีความแข็งมากขึ้นได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แข็งมากๆ เช่น ขนมกรุบกรอบ แคบหมู เอ็นข้อไก่ทอด เป็นเวลา ประมาณ 5-7 วัน หรือ จนกว่าจะตัดไหม
4. หลีกเลี่ยงการใช้หลอดดูดหลังจากผ่าฟันคุดเสร็จใหม่ๆ แรงดูดกระตุ้นให้เลือดออกมาจากแผลมากขึ้น หากต้องการดื่มน้ำควรใช้วิธีดื่มจากแก้ว และ ไม่ควรดื่มน้ำที่มีอุณหภูมิสูง หรือต่ำมากกเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองของแผลได้
5. ไม่ควรอมน้ำแข็ง รวมถึงลูกอมชนิดต่างๆ แต่สามารถใช้ผ้าห่อน้ำแข็ง ประคบบริเวณแผลจาก การผ่าฟันคุด หรือ ถอนฟันคุด ได้ เพื่อลดอาการบวมภายหลังการผ่า
6. ไม่ควรออกแรงทำกิจกรรมต่างๆ หนักเกินไป สามารถทำงานต่างๆ ได้ตามปกติ ส่วนกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากๆ เช่น ออกกำลังกาย ยกของหนัก ควรจะหลีกเลี่ยงไปก่อน เพราะการออกแรงมากจะทำให้หัวใจเต้นแรง เลือดสูบฉีดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้แผลมีเลือดออกมาอีกได้
7. ในวันแรกไม่ควรบ้วนปากด้วยน้ำยาใดๆ ทั้งสิ้น ในวันแรก ควรหลีกเลี่ยงการบ้วนน้ำ และการใช้น้ำยาบ้วนปาก รวมถึงไม่ควรกลัวปากแรงเกินไป เพราะจะทำให้ลิ่มเลือดที่ปิดปากแผลหลุดออกมา และทำให้มีเลือดออกได้
8. สามารถแปรงฟันในคืนนั้นได้ สามารถแปรงฟันได้ปกติ แต่ควรระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงบริเวณจุดที่เพิ่งผ่าฟันคุด ถ้าไม่แปรงฟันในบริเวณอื่นๆ จะส่งผลให้ช่องปากมี แบคทีเรียสะสมอยู่มากซึ่งอาจทำให้แผลเกิดการอักเสบ และติดเชื้อได้
9. ในวันต่อๆมา หากทานอาหารแล้วมีเศษอาหารตกลงไปในแผลผ่าฟันคุด ให้บ้วนน้ำ เพื่อให้เศษอาหาร หลุดออกมาจากแผล เพราะหากมีเศษอาหารสะสมอยู่ จะทำให้แผลเกิดการอักเสบ และติดเชื้อได้ แต่ไม่ควรใช้ไม้จิ้มฟัน เพราะจะทำให้ เกิดการระคายเคือง และ รบกวนการหายของแผล
10. ควรรับประทานยาตามที่ทันตแพทย์สั่ง ยาแก้ปวด และ ยาแก้อักเสบ โดยยาแก้ปวดนั้น สามารถรับประทานได้ทันที ตั้งแต่ยาชายังไม่หมดฤทธิ์ เพื่อให้แผลไม่ปวด และรับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง หากมีอาการปวด ส่วนยาแก้อักเสบให้รับประทานตามทันตแพทย์สั่งจนหมด เพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดเชื้อดื้อยาในอนาคตได้
11. ในกรณีที่มีการกรอกระดูก อาจสามารถพบการบวมที่บริเวณใบหน้าได้ ซึ่งอาการบวมนี้มักจะหายไปในเวลาประมาณ 5-7 วัน ในบางกรณีอาจพบมีรอยเขียวช้ำที่บริเวณแก้มด้านที่ทำการผ่าฟันคุดไป โดยรอยเขียวช้ำดังกล่าวนี้ จะค่อยๆจางหายไปได้เองเช่นกัน
12. หากพบว่ามีความผิดปกติใดๆ ควรกลับไปพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด
13. กลับมาตัดไหม ตามระยะเวลาที่ทันตแพทย์นัด ภายหลังการผ่าฟันคุด ทันตแพทย์จะนัดให้กลับมาตัดไหม ประมาณ 5-7 วัน ซึ่งการทิ้งไหมที่ใช้เย็บแผลไว้นานเกินไป อาจทำให้มีแบคทีเรีย ไปติดเชื้อที่บริเวณไหมเย็บได้
หากมีอาการดังต่อไปนี้เกิดขึ้นมา ควรรีบกลับมาพบทันตแพทย์
1. ยังคงมีเลือดออกอยู่ ภายหลังการรักษาเกิน 1-2 วัน
2. มีหนองบริเวณแผล
3. มีอาการกลืนอาหารลำบาก หรือหายใจลำบาก
4. มีไข้
5. เกิดการบวมมากขึ้น หลังจากผ่าฟันคุดเสร็จแล้ว 2-3 วัน ทั้งๆที่ช่วงแรกไม่มีอาการบวม
6. มีเลือดหรือหนองปนมากับน้ำมูก
7. ปวดแผลมาก และไม่หายแม้หลังจากผ่าฟันคุดไปแล้วเกิน 48 ชั่วโมง
8. มีอาการหายใจลำบากหลังผ่าฟันคุดไปแล้ว 3 วัน
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการผ่าฟันคุด และถอนฟันคุด
ผ่าฟันคุดใช้เวลานานไหม?
โดยทั่วไปใช้เวลาในการทำรักษาประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของฟันคุดซี่นั้นๆ
ใช้เวลากี่วันกว่าแผลการผ่าฟันคุด และถอนฟันคุดจะหาย?
ส่วนใหญ่ร่างกายจะยังคงมีความเจ็บปวดภายหลังผ่าฟันคุดประมาณ 2-3 ชั่วโมง หลังหมดฤทธิ์ยาชา คนส่วนใหญ่อาจจะยังรู้สึกเจ็บได้ประมาณ 24 ชั่วโมงแรก และอาการจะค่อยๆดีขึ้นใน 2-3 วัน สำหรับระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นตัวจนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ คือประมาณ 3-4 วัน หรือไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ ในกรณีที่มีการกรอกระดูก อาจต้องรอประมาณ 1-2 เดือน แผลผ่าฟันคุดบริเวณเหงือกจะกลับมาปิดสนิท กลายเป็นชิ้นเดียวกับเนื้อเยื่อในช่องปาก
การถอนฟันคุด หรือ การผ่าฟันคุด เจ็บไหม?
อาจมีอาการเจ็บบ้างตอนฉีดยาชา แต่พอยาชาออกฤทธิ์เต็มที่แล้ว จะยังคงมีอาการเหมือนโดนกดๆ หรือรู้สึกมีความสั่นสะเทือนในช่องปาก แต่ถ้าหากยังคงมีอาการเจ็บปวด หรือรู้สึกว่าอดทนไม่ได้แล้ว คุณสามารถแจ้งกับทันตแพทย์ได้ตลอดเวลา เพราะทันตแพทย์จะเติมยาชาให้จนกว่าคุณจะรู้สึกดีขึ้น การผ่าฟันคุดที่ต้องมีการกรอกระดูก จะย่อมมีความรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าฟันคุดที่สามารถถอนออกได้ธรรมดา รวมถึงฟันคุดที่ถอนได้ยาก หรือต้องผ่าออก ก็จะต้องใช้เวลานานกว่าในการหายของแผล นอกจากนั้นก็จะขึ้นอยู่กับปัจจัยความยากง่ายของฟันคุดด้วย
กลัวการผ่าฟันคุด ต้องทำยังไง?
ทาง Will Dent Dental Clinic เข้าใจความกลัวของคนไข้ทุกคน เราจึงมีตัวช่วยให้คนไข้ โดยสามารถใช้การดมก๊าซไนตรัสออกไซด์ เพื่อช่วยคลายความกังวล และสามารถช่วยลดความเจ็บปวดจาการฉีดยาชาได้อีกด้วย